ผู้ป่วย เบาหวาน ทานอาหารอย่างไรดี

ผู้ป่วย เบาหวาน คือผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ฮอร์โมนอินซูลินมีที่ทำหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญให้เกิดเป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดความบกพร่องดังกล่าว ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเป็นอย่างไร

คนที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอาจต้องเลือกรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาหารคนเป็นเบาหวานที่ต้องประกอบไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันต่ำ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง หรือต้องการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน ก็สามารถรับประทานอาหารกลุ่มดังกล่าวได้เช่นกัน โดยอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ข้าว แป้งต่างๆ อาหารจำพวกเส้น ขนมปัง เผือกมัน ถั่วเมล็ดแห้ง

ผู้เป็นเบาหวานรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่ต้องกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องงดหรือจำกัดมากเกินไป เพราะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ที่อ้วน รับประทานข้าวได้มื้อละ 2 ทัพพี ถ้าไม่อ้วนสามารถรับประทานได้ 3 ทัพพี (เมื่อเลือกรับประทานก๋วยเตี๋ยวหรือขนมปังแล้ว ต้องงดหรือลดข้าวในมื้อนั้นลงตามสัดส่วนที่กำหนด) เลือกรับประทานแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง หรือข้าวขัดสีน้อยอื่นๆ ขนมปังโฮลวีท

กลุ่มที่ 2 ผักชนิดต่างๆ

อาหารกลุ่มนี้ มีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารมาก ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานผักวันละ 3-4 ทัพพีทั้งผักสดและผักสุก โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง บวบ ตำลึง ต้นหอม ลดการรับประทานผักที่เป็นหัวใต้ดินหรือมีแป้งสะสมเยอะ เช่น ฟักทอง หัวแครอท หัวผักกาดข้าว

กลุ่มที่ 3 ผลไม้

ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้จะมีใยอาหาร แต่หากรับประทานมากกว่าปริมาณที่กำหนด จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ ผู้เป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานผลไม้ 1 ชนิดต่อมื้อวันละ 2-3 ครั้งหลังอาหาร ควรหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน น้อยหน่า ละมุด หรือผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง

** การรับประทานผลไม้ครั้งละมากๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน ก็ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ **

กลุ่มที่ 4 เนื้อสัตว์ (ไม่ติดมัน)

อาหารกลุ่มนี้ให้โปรตีนเป็นหลัก ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับทุกมื้อ มื้อละ 2-4 ช้อนกินข้าวพูนน้อยๆ และควรเลือกเนื้อสัตว์ชนิดไม่ติดมันและหนัง รับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น

กลุ่มที่ 5 ไขมัน

ผู้เป็นเบาหวานควรเลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอกแทนน้ำมันหมูในการประกอบอาหารทั่วไป นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทอด อาหารที่มีกะทิ อาหารที่มีไขมันทรานส์ (ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ผ่านกระบวนการไฮโดรจีเนชั่น เพื่อให้ทนความร้อนได้สูง เก็บได้นานโดยไม่เหม็นหืน รสชาติใกล้เคียงไขมันจากสัตว์แต่ราคาถูกกว่า พบได้ในเนยขาว ครีมเทียม น้ำมันที่ทอดซ้ำ เนยเทียม (มาการีน) หรืออาหารที่มีเป็นส่วนประกอบ เช่น เบเกอร์รี่ ขนมขบเคี้ยว   โดนัท ฟาสต์ฟู้ด มีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด)

กลุ่มที่ 6 น้ำนม (วัว) 

ผู้เป็นเบาหวานควรเลือกดื่มนมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงนมรสหวาน นมเปรี้ยว โยเกิร์ตพร้อมดื่ม เพราะนมเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลในปริมาณที่สูง  ส่วนนมถั่วเหลืองถือว่าเป็นนมที่เป็นโปรตีนสูงใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ อีกทั้งมีไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่านมวัว ช่วยลดไขมันคลอเลสเตอรอล แต่มีข้อเสียคือปริมาณแคลเซียมน้อยกว่านมวัว (ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลืองต้องสังเกตปริมาณน้ำตาลที่ระบุบนฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนบริโภค)

อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ย

อาหารบางอย่างนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวานแล้ว ยังอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งอาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง ได้แก่

  • ไขมันอิ่มตัว มักพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ติดหนัง เนื้อวัว ไส้กรอก เบคอน ไขมันจากสัตว์ เนย ชีส เป็นต้น รวมถึงในขนมอบ ของทอด น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวด้วย ซึ่งควรบริโภคอาหารให้ได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน
  • ไขมันทรานส์สังเคราะห์ พบมากในขนมอบที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบและอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำด้วยความร้อนสูง เพื่อเก็บรักษา ยืดอายุ และทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น เช่น โดนัท คุกกี้เนย มันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟราย ขนมขาไก่ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ขนมดอกจอก ปลาซิวแก้ว เป็นต้น
  • ไขมันคอเลสเตอรอล มักพบในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโปรตีนสูงอย่างเครื่องในสัตว์หรือไข่แดง ซึ่งในแต่ละวันไม่ควรได้รับคอเลสเตอรอลเกิน 200 มิลลิกรัม
  • โซเดียม แม้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่หากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณมากเกินไปหรือเกินกว่า 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดข้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ไตเสื่อม และอาจเกิดภาวะไตวายในที่สุด

ทั้งนี้ คนเป็นเบาหวานควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของตนเอง อีกทั้งโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติและเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

 

หาผู้อ่านท่านไหน สนใจผลิตเครื่องดิ่มสมุนไพร เพื่อบำรุงสุขภาพ  สามารคลิก ที่นี่ ได้เลยค่ะ