วิธีตรวจสอบหมายเลข อย. อาหารเสริม  

อาหารเสริม กับ อย. เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะถือว่าเป็นตัวการันตีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค แต่หลังจากที่มีกระแสข่าวการปลอมแปลงเลข อย. และการผลิตอาหารเสริมที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้หลายคนที่กำลังทานอาหารเสริมเริ่มกังวลใจว่า ยี่ห้อที่ตนเองทานหรือใช้อยู่นั้น หมายเลข อย. ที่ระบุถูกต้องจริงหรือไม่ วันนี้เราจึงขอแนะนำวิธีการตรวจสอบหมายเลข อย.อาหารเสริม ด้วยตัวเองง่ายๆ ค่ะ

หลายครั้งที่เราพบว่า อาหารเสริมลดน้ำหนัก,ยาลดความอ้วน หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ มักจะมีการติดหมายเลข อย. เพื่อให้ผู้ซื้อรู้สึกว่า ผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัย แต่หลายครั้ง เพราะปัจจุบันพบว่ามีเหล่าแม่ค้าพ่อค้าหัวใส แต่จริยธรรมต่ำ ทำการปลอมหรือแอบอ้างเลข อย. จากผลิตภัณฑ์อื่นเอามาแปะ แล้วโมเมว่าเป็นเลข อย. ของตัวเองก็มีคะ การตรวจสอบความถูกต้องของเลข อย. จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่ะ

โดยคุณสามารถเข้าไปตรวจสอบหมายเลข อย. ได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง

http://fdaolap.fda.moph.go.th/logistics/food/FSerch.asp?id=food

ตัวอย่าง

messageImage_1524648473902
โดยคุณสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่คุณต้องการได้หลากหลายรูปแบบค่ะ

  • ชื่ออาหาร
  • ชื่อตรา
  • เลขสถานที่
  • เลข อย.
  • ประเภทอาหาร
  • ประเภทอาหารพิเศษ

ลดปัญหาการถูกลวงจากโฆษณาอาหารเสริม

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ขออนุญาตจาก อย. ถูกต้องหรือไม่” หรือ “ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง ใช้แล้วไม่เห็นผลตามคำโฆษณา” ข้อความเหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามักได้รับการสอบถาม หรือร้องเรียนจากผู้บริโภคอยู่เสมอ จึงกล่าวได้ว่าปัญหาที่ผู้บริโภคกังวล และมักจะพบจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคือ ถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่คุ้มค่า สมประโยชน์ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก ได้รับข้อมูลโฆษณาที่เป็นเท็จ หรือเกินจริงนั่นเอง

จากการตรวจสอบพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้บริโภคจะเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แสดงว่าการระบุว่ารักษาโรคได้ หรือกล่าวอ้างสรรพคุณต่าง ๆ อาทิ ลดความอ้วน ขจัดไขมันส่วนเกิน รักษาฝ้า ฯลฯ ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการ-อาหารและยาว่าเห็นผลจริงตามที่โฆษณา เมื่อซื้อไปรับประทานแล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้าง จึงสงสัยว่าเหตุใดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงอนุญาตให้จำหน่ายได้ แต่ในความเป็นจริงคือ ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายทำการโฆษณาโดย ไม่ได้นำข้อความหรือรูปภาพมาขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน สรรพคุณที่โฆษณาจึงไม่ตรงกับที่ได้ขอขึ้นทะเบียนอาหารหรือขอใช้ฉลาก ดังนั้นควรเรียนรู้ วิธีลดปัญหาการถูกลวงจากโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  1. เปรียบเทียบข้อมูลโฆษณาที่ได้รับกับฉลากข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่อยู่ข้างกล่องหรือขวด ถ้าไม่ตรงกันก็ควรหลีกเลี่ยง หรือสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจซื้อ
  2. สังเกตฉลากเพื่อหาข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผลิตภัณฑ์ใดขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาโรค โดยถ้าพบผลิตภัณฑ์ใดแสดงเครื่อง-หมาย อย. บนฉลาก แสดงว่าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในรูปของอาหาร จึงไม่สามารถรักษาโรคใด ๆ ได้ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาจะไม่มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก แต่จะแสดงเป็นเลข-ทะเบียนตำรับยาระบุบนฉลากแทน ลักษณะของเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงบนฉลาก ตัวอย่างเช่น ทะเบียนยาเลขที่ 1 A 9999/46 หรือ เลขทะเบียนที่ 1 G 3996/ 44 หรือ Reg.No. 1K 3333/28 เป็นต้น
  3. ข้อความโฆษณาต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา ลักษณะของเลขอนุญาตโฆษณา ตัวอย่างเช่น ฆอ. 9988/2543 หรือ ฆอ. 10200/2546 เป็นต้น ซึ่งรวมถึงคำพูดที่ผู้จำหน่ายอธิบายประกอบการขายผลิตภัณฑ์ ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว

สำหรับข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นเพียงบางแง่มุมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อเบื้องต้นเท่านั้น การจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระโดยเลือกหนทาง ที่เห็นว่าเหมาะสมและคุ้มค่ากับตนเองมากที่สุดได้ อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองใคร่ขอแนะนำหลักปฏิบัติ ดังนี้คือ อย่าหลงเชื่อง่าย อย่าหน่ายตรวจสอบ ต้องอ่านฉลาก สอบถามผู้รู้ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกล้าปกป้องสิทธิ์ตนเอง